รูปแบบ, กฎและกติกาของเกมต่อสู้ในปัจจุบัน ของ เกมต่อสู้

ชาวเกาหลีใต้ซึ่งกำลังให้ความสนใจเกมต่อสู้ที่เปิดให้บริการในประเทศไทย
  • ผู้เล่นหนึ่งคนจะควบคุมตัวละครได้ทีละตัวเท่านั้น - จุดสำคัญในเกมต่อสู้คือผู้เล่นจะควบคุมตัวละครได้ทีละคน ถึงแม้ผู้เล่นจะมีการตั้งเป็นทีมขึ้นมา แต่ก็ต้องออกมาสู้ได้ทีละคนเท่านั้น
  • เน้นการต่อสู้ประชิดตัว - ถึงแม้ตัวละครในเกมจะพกอาวุธประเภทปืนหรือธนู แต่พวกเขาก็ต้องต่อสู้ระยะประชิดเสมอ
  • การตัดสินผลแพ้ชนะ - โดยส่วนมากผลแพ้ชนะจะตัดสินก็ต่อเมื่อผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพลังชีวิตหมดก็จะแพ้ไปหนึ่งยก ผู้เล่นที่ชนะสองในสามยกจะเป็นฝ่ายชนะหรือในบางเกมถ้าผู้เล่นในกลุ่มแพ้จนหมดก็จะแพ้เกมเช่นกัน หรือในบางเกม (ส่วนใหญ่เป็นเกมต่อสู้แบบสามมิติ) จะมีการแพ้ชนะโดยการตกเวที หรือ Ring out ด้วย
  • มีเวลาจำกัด - เกมต่อสู้บนเครื่องเกมตู้มักจะมีเวลาจำกัด เมื่อเวลาหมดลงผู้เล่นที่มีค่าพลังชีวิตมากกว่าก็จะชนะไป
  • ผู้เล่นอีกคนต้องมีสิทธิ์เข้ามาร่วมได้ตลอดเวลา - เกมต่อสู้ตามเกมตู้ เมื่อผู้เล่นเล่นคนเดียวไปแล้ว ผู้เล่นอีกคนมีสิทธิ์เข้ามาแทรกการต่อสู้ได้ตลอดเวลา
  • คอมโบ - ระบบสำคัญสำหรับเกมต่อสู้คือคอมโบ (Combo) คอมโบคือการออกท่าโจมตีแบบเป็นชุดและเป็นจังหวะ ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถสวนกลับได้ บางกรณีจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Infinite Combo หรือ คอมโบไม่จำกัด ซึ่งเป็นกลเม็ดที่สามารถจู่โจมไปได้เรื่อยๆไม่จำกัดและฝ่ายตรงข้ามไม่มีโอกาสตอบโต้ ซึ่งถือเป็นการโกงอย่างหนึ่ง มีหลายๆเกมพยายามกำจัดความสามารถตรงนี้แต่ผู้เล่นที่เชี่ยวชาญก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ตลอด
  • ท่าพิเศษ - ตัวละครส่วนมากมักจะมีท่าเตะต่อยเป็นพื้นฐาน แต่เมื่อกดคำสั่งอย่างถูกต้องพวกเขาสามารถปล่อยท่าพิเศษมาได้ ซึ่งอาจจะเป็นหมัดที่ต่อยแรงกว่าปกติหรือยิงเลเซอร์ออกมาจากตา จุดเด่นของท่าพิเศษคือจะมีพลังโจมตีที่แรงกว่าปกติ
  • ท่าไม้ตาย - ในเกมต่อสู้บางเกมจะมีสิ่งที่เรียกว่าท่าไม้ตาย ท่าไม้ตายเป็นท่าสุดยอดของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งท่าไม้ตายอาจจะกินค่าพลังบางส่วนเพื่อปล่อยออกมา ท่าไม้ตายส่วนมากมักจะมีช่องโหว่เมื่อจู่โจมพลาด ทำให้ท่าไม้ตายมักจะถูกใช้เมื่อถึงคราวที่ฝ่ายตรงข้ามพลั้งเผลอเท่านั้น
  • การป้องกัน - การป้องกันในเกมต่อสู้โดยส่วนมากสามารถทำได้โดยการดันคันโยกไปด้านหลังตัวละคร พวกเขาก็จะป้องกันตัวเองเมื่อเกิดมีการโจมตีเข้ามา แต่เกมต่อสู้บางเกมก็จะมีปุ่มป้องกันแยกมาให้อีกที การป้องกันโดยส่วนมากจะป้องกันความเสียหายได้ประมาณ 3/4 ของท่าโจมตีนั้นๆ ในการป้องกันนั้นมักจะมีกฎว่าถ้าป้องกันขณะยืน จะไม่สามารถป้องการการโจมตีต่ำได้ ถ้าก้มลงป้องกันก็จะไม่สามารถป้องกันจากการกระโดดโจมตีได้และถ้ากระโดดป้องกันจะป้องกันการโจมตีได้ทุกทิศทาง
  • เคาท์เตอร์ - เคาท์เตอร์คือการโต้กลับ มักเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกเมื่อผู้เล่นสามารถโจมตีศัตรูขณะที่ศัตรูกำลังโจมตีได้ ซึ่งบางเกมจะมีระบบท่าเคาท์เตอร์ให้เฉพาะ
  • จับทุ่ม - เกมต่อสู้มักมีกลยุทธ์ที่เรียกว่าการจับทุ่ม การจับทุ่มคือการเข้าไปประชิดตัวศัตรูและจับเหวี่ยงไปอีกฝั่งของจอ ท่าจับทุ่มส่วนมากมักจะป้องกันไม่ได้และมีพลังโจมตีที่ค่อนข้างสูง แต่เพราะต้องเข้าประชิดคู่ต่อสู้ ทำให้ท่าจับทุ่มถือเป็นท่าโจมตีที่เสี่ยงท่าหนึ่ง
  • ท่าเยาะเย้ย - เป็นท่าที่ใช้เยาะเย้ยคู่ต่อสู้เมื่อเสียท่า โดยปกติจะใช้ปุ่ม Start บางเกมผู้เล่นสามารถเพิ่มเกจพลังพิเศษได้จากการใช้ท่าเยาะเย้ย
  • การเข้าซ้ำ - เป็นการเข้าโจมตีคู่ต่อสู้ที่กำลังล้มลงอยู่ ซึ่งคู่ต่อสู้ที่กำลังล้มนี้ก็มีทางเลือกในการลุกหลายแบบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกซ้ำ มักจะปรากฏในเกมต่อสู้แบบสามมิติมากกว่าสองมิติ
  • เกจพลังพิเศษ - มักอยู่ที่ด้านล่างของจอ เกจพลังพิเศษนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้เล่นกระทำการตามกฎของเกมนั้นๆ เช่น ใช้ท่าพิเศษ, ถูกโจมตีหรือชาร์จ ซึ่งเกจพลังพิเศษนี้ มักใช้ปล่อยท่าไม้ตายเสียส่วนใหญ่ แต่เกมบางเกมก็ไม่มีเกจนี้
  • ท่าไม้ตายปิดฉาก - มักมีอยู่ในเกมอย่าง มอร์ทัล คอมแบท โดยจะให้ใช้เมื่อผู้เล่นอีกฝ่ายพลังชีวิตหมดลง เมื่อผู้เล่นกดคำสั่งได้ถูกต้อง ผู้เล่นจะใช้ท่าพิเศษสังหารฝ่ายตรงข้าม
  • ความรุนแรง - เกมต่อสู้มักจะมีระดับความรุนแรงที่ค่อนข้างต่ำ เพราะมีแต่การต่อยกันเท่านั้น แต่ก็มีบางเกมที่ความรุนแรงสูงจนมีเลือดออกและบางเกมก็ให้ผู้เล่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามได้
  • ตัวละคร - ตัวละครในเกมต่อสู้ โดยส่วนมากมักจะเป็นตัวละครสมมุติที่ไม่มีอยู่จริง แต่บางเกมก็ทำการซื้อลิขสิทธิ์ตัวละครจากที่อื่นมาใส่ในเกม ตัวละครทุกตัวในเกมจะต้องมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง หน้าตา และท่าโจมตี โดยส่วนมากตัวละครต้องออกแบบให้สมดุลกัน เช่น ตัวละครที่โจมตีหนักมักจะเดินเชื่องช้า เป็นต้น ตัวละครมักจะมีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชราหรือสัตว์ประหลาด
  • การเผชิญหน้ากับผู้เล่นปัญญาประดิษฐ์ - เมื่อผู้เล่นเล่นเกมต่อสู้คนเดียว ผู้เล่นสมควรที่จะต้องปะทะกับตัวละครปัญญาประดิษฐ์แบบสุ่ม ซึ่งจะเก่งขึ้นเรื่อยๆเมื่อผ่านระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • ตัวละครระดับหัวหน้า - ตัวละครระดับหัวหน้า มักจะเป็นตัวละครสุดท้ายที่ผู้เล่นจะต้องสู้ด้วยเสมอ ตัวละครระดับหัวหน้ามักจะมีความสามารถที่ค่อนข้างโกงและเก่งกว่าปกติ โดยส่วนมากตัวละครระดับหัวหน้ามักจะไม่สามารถเอามาเล่นตามเกมตู้ได้แต่บางเกมจะให้เอามาเล่นตามเครื่องคอนโซลได้